ปัจจัยในการงอกของเมล็ด

ปัจจัยในการงอกของเมล็ด      


การเพาะเมล็ด  หลายครั้งสร้างความสงสัยอย่างมากให้กับผู้ปลูก  เนื่องจากการเพาะมีกระบวนการที่แตกต่างกันไปหลากวิธี  บ้างเพาะง่าย บ้างเพาะยาก  ลองไปดูส่วนประกอบของเมล็ด และปัจจัยที่มีผลต่อการงอกของเมล็ดกัน รวมถึงวิธีการทำลายการพักตัวของเมล็ด เพื่อให้เมล็ดงอกได้เร็วยิ่งขึ้น

ส่วนประกอบของเมล็ด ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่ 


1. เปลือกหุ้มเมล็ด
2. คัพภะ ประกอบด้วย ใบเลี้ยง ตายอด ต้นอ่อน และราก
3. อาหารสะสมในเมล็ด


การงอกของเมล็ด

เมล็ดพืช  ประกอบด้วยส่วนซึ่งเป็นคัพภะ ส่วนที่เป็นอาหารสะสมภายในเมล็ด และเปลือกหุ้มเมล็ด  หลังจากที่เมล็ดถูกแยกออกจากต้นแม่แล้ว เมล็ดจะอยู่ในสภาพหยุดการเจริญเติบโตช่วงระยะเวลาหนึ่ง  เมื่อเอาเมล็ดมาไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คัพภะที่อยู่ภายใน จะเจริญเป็นต้นพืชใหม่  กระบวนการที่คัพภะภายในเมล็ดเจริญเป็นต้นใหม่นี้ เรียกว่า “การงอก” ต้นพืชที่เจริญมาจากคัพภะในขณะที่เป็นต้นอ่อนอยู่ ยังต้องอาศัยอาหารที่เก็บไว้ภายในเมล็ด เรียกว่า “ต้นกล้า”

ปัจจัยในการงอกของเมล็ด 


เมล็ดที่จะงอกได้  จะต้องมีปัจจัยที่เหมาะสม ทั้งเมล็ด และสภาพแวดล้อมภายนอก ดังนี้

1. การมีชีวิตของเมล็ด   นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะเมล็ด  การที่เมล็ดมีชีวิตอยู่ได้น้อย  อาจเนื่องจากการเจริญเติบโตของเมล็ด ไม่เหมาะสมขณะที่ยังอยู่บนต้นแม่  หรือเนื่องจากได้รับอันตราย ขณะทำการเก็บเกี่ยว หรือขบวนการในการผลิตเมล็ดไม่ดีพอ

2. สภาพแวดล้อมในขณะเพาะ  เมล็ดต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ดังนี้

     2.1  น้ำ  เป็นตัวทำให้เปลือกเมล็ดอ่อนตัว และเป็นตัวทำละลายอาหารสะสมภายในเมล็ด ที่อยู่ในสภาวะที่เป็นของแข็ง ให้เปลี่ยนเป็นของเหลง และเคลื่อนที่ได้  ทำให้จุดเจริญของเมล็ดนำไปใช้ได้


     2.2  แสง  เมล็ดเมื่อเริ่มงอก จะมีทั้งชนิดที่ต้องการแสง ชอบแสง  และไม่ต้องการแสง  ส่วนใหญ่เมล็ดเมื่อเริ่มงอก จะไม่ต้องการแสง  ดังนั้น การเพาะเมล็ดโดยทั่วไป จึงมักกลบดินปิดเมล็ดเสมอ  แต่แสงจะมีความจำเป็น หลังจากที่เมล็ดงอกแล้ว ขณะที่เป็นต้นกล้า แสงที่พอเหมาะจะทำให้ต้นกล้าแข็งแรง และเจริญเติบโตได้ดี


     2.3  อุณหภูมิ  อุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วยให้เมล็ดดูดน้ำได้เร็วขึ้น  กระบวนการในการงอกของเมล็ดเกิดขึ้นเร็ว  และช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น  อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด จะไม่เท่ากัน พืชเมืองร้อน ย่อมต้องการอุณหภูมิสูงกว่า พืชเมืองหนาวเสมอ


    2.4  อ๊อกซิเจน  เมื่อเมล็ดเริ่มงอก จะเริ่มหายใจมากขึ้น  ซึ่งก็ต้องใช้อ๊อกซิเจน ไปเผาผลาญอาหารภายในเมล้ด ให้เป็นพลังงานใช้ในการงอก  ยิ่งเมล็ดที่มีมันมาก ยิ่งต้องใช้อีอกซิเจนมากขึ้น  ดังนั้น การกลบดินทับเมล็ดหนาเกินไป หรือใช้ดินเพาะเมล็ด ที่ถ่ายเทอากาศไม่ดี จะมีผลยับยั้งการงอก  หรือทำให้เมล็ดงอกช้าลง หรือไม่งอกเลย


การพักตัวของเมล็ด


การพักตัวของเมล็ด  หมายถึง  ช่วงที่เมล็ดพืชยังไม่พร้อมที่จะงอกขึ้นเป็นต้นพืชใหม่ได้  ดังนั้นการเพาะเมล็ดบางชนิด อาจต้องทำลายการพักตัวของพืชก่อน  เพื่อให้เมล็ดงอกได้เร็วยิ่งขึ้น

วิธีการทำลายการพักตัวของเมล็ด


1. ลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก วิธีการนี้ ทำให้เมล็ดงอกเร็วขึ้น กว่าวิธีการเพาะเมล็ดทั้งเปลือกหุ้มเมล็ด ซึ่งวิธีการลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้เป็นอันตรายต่อเมล็ดภายใน เพราะอาจทำให้การงอกของเมล็ดสูญเสียไปได้  พืชที่นิยมลอกเปลือกหุ้มเมล็ดออก ได้แก่ มะม่วง

2. ฝนเมล็ด  เป็นการทำให้เปลือกแข็งหุ้มเมล็ด เกิดเป็นรอยด้าน  โดยการฝนเมล็ดลงบนกระดาษทราย หรือหินฝน ไม่ควรฝนลึกเกินไป และอย่าฝนตรงจุดที่เป็นที่อยู่ของคัพภะ วิธีนี้จะช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น

3. การกะเทาะเอาเมล็ดออก นิยมทำกับพืช ที่มีเมล็ดแข็ง เมื่อกะเทาะเปลือกหุ้มเมล็ดแตกออกแล้ว จึงค่อยนำเมล็ดอ่อนภายใน ไปทำการเพาะ  วิธีนี้จะช่วยให้ เมล็ดพืชงอกได้เร็วกว่าวิธีการเพาะแบบไม่กะเทาะเปลือกหุ้ม เมล็ดพืชที่จะต้องทำการกะเทาะเมล็ดก่อนเพาะ ได้แก่ บ๊วย พุทรา สมอจีน

4. การตัดปลายเมล็ด   เป็นวิธีการหนึ่ง ที่จะช่วยให้เมล็ดพืช งอกได้เร็วกว่าปกติ  โดยตัดเปลือกหุ้มเมล็ดทางด้านตรงข้ามกับด้านหัวของคัพภะ  และอย่าตัดให้เข้าเนื้อของเมล็ด นิยมใช้กับพืชที่มีเมล็ดแข็ง เช่น เหรียง หางนกยูงฝรั่ง

5. การแช่น้ำ   การนำเมล็ดไปแช่น้ำ จะช่วยให้เมล็ดพืชงอกได้เร็วกว่าปกติ  ทั้งนี้เพราะน้ำ จะทำให้เปลือกหุ้มเมล็ดอ่อนตัว  จึงเป็นการช่วยให้เมล็ดงอกได้เร็วขึ้น  น้ำที่ใช้แช่อาจจะเป็นน้ำอุ่น หรือน้ำเย็น และช่วงเวลาการแช่ จะช้าหรือเร็ว ขึ้นอยู่กับชนิดพืช  พืชบางชนิดใช้เวลานานถึง 1 – 2 วัน  บางชนิดใช้เวลาประมาณ 6 – 12 ชั่วโมง ทั้งนี้สังเกตจาก ขนาดของเมล็ดขยายใหญ่และเต่งขึ้น  หรือเปลือกหุ้มเมล็ดนิ่ม ก็นำไปเพาะได้ พืชที่นิยมใช้วิธีนี้ ได้แก่ น้อยหน่า  มะขาม มะละกอ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าว ผักชี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :   “ การขยายพันธุ์พืช “  กรมส่งเสริมการเกษตร

ความคิดเห็น